วิชาแนะแนว

สรุปรายวิชาการแนะแนว

ความหมายของการแนะแนว
การแนะแนว หมายถึง กระบวนการทางการศึกษาที่ช่วยให้ บุคคลรู้จัก และเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สามารถนำตนเองได้ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ ปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
การแนะแนวไม่ใช่การแนะนำ อาจกล่าวได้ว่าการแนะแนวเป็นการช่วยเหลือ ให้เขาสามารถช่วยตนเองได้
ความสำคัญของการแนะแนว
จุดหมายของการแนะแนว คือการป้องกันปัญหา แก้ไขพฤติกรรมทุกอย่างที่ผิดปกติและการพัฒนาให้ทุกคนไปสู่จุดหมายของชีวิตที่ต้องการ
ความสำคัญของการแนะแนว
กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียน ให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เสริมสร้างทักษะชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญา และการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ซึ่งครูแนะแนวทุกคนต้องทำหน้าที่แนะแนว ให้คำปรึกษาด้านชีวิต การศึกษาต่อ และการพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพและการมีงานทำ
กิจกรรมแนะแนว ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และมีความสุข
หน้าที่และหลักการแนะแนว
ปรัชญาของการแนะแนว
1. บุคคลแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง
2. มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงยิ่ง
3. บุคคลย่อมมีศักดิ์ศรีและศักยภาพประจำตัว
4. บุคคลแต่ละคนย่อมต้องการความช่วยเหลือ
5. บุคคลจะมีความสุขเมื่อได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในด้านต่าง ๆ
6. พฤติกรรมทุกอย่างย่อมมีสาเหตุ
หลักการสำคัญของการแนะแนว
การจัดกิจกรรมแนะแนวจะต้องจัดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การที่จะให้งานบริการแนะแนวบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงหลักการแนะแนวที่มีการวางแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม ดังนั้นอาจารย์แนะแนวจึงควรยึดถือหลักการสำคัญของการจัดกิจกรรมแนะแนว เพื่อเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. การแนะแนวเป็นบริการที่ต้องจัดให้กับบุคคลทุกคนไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาที่มีปัญหาเท่านั้น
2.การแนะแนวตั้งอยู่บนรากฐานของการยอมรับในศักดิ์ศรีและคุณค่าของแต่ละคนและยอมรับในสิทธิส่วนตัวในการตัดสินใจที่จะเลือกทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
3. การแนะแนวเป็นกระบวนการเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่องกันและเป็นไปตามลำดับขั้น
4. การแนะแนวจะต้องเกิดจากความร่วมมือไม่ใช่การบังคับ
5. การแนะแนวเน้นในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
6. การแนะแนวเน้นในเรื่องของการเข้าใจตนเอง การตัดสินใจด้วยตนเอง และการปรับตัว ด้วยตนเอง
7. การแนะแนวเน้นในเรื่องการป้องกันปัญหามากกว่าการแก้ไขปัญหา
8. การแนะแนวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการศึกษา
9. การแนะแนวที่มีประสิทธิภาพจะต้องเกิดจากความร่วมมือ และความเต็มใจของบุคลากร ทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัย และนักศึกษาผู้มารับบริการ
10.การแนะแนวจะต้องจัดบริการให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ (1) การแนะแนวการศึกษา (2) การแนะแนวอาชีพ (3) การแนะแนวส่วนตัวและสังคม
ประโยชน์ของการแนะแนว
1. ประโยชน์แก่ผู้ปกครองหรือบิดามารดา
1.1 ได้รับรู้และเข้าใจสถานภาพทางการเรียนของบุตรหลานของท่าน เมื่อท่านได้มีโอกาสปรึกษาหารือกับครูแนะแนว
1.2 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสที่บุตรหลานของท่านจะได้เรียนต่อหรือออกไปประกอบอาชีพ
1.3 รับรู้และเข้าใจสภาพปัญหาของเด็กวัยรุ่นเพื่อจะได้ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการปรับปรุงพฤติกรรมของบุตรหลานของท่านต่อไป
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน
2.1 ช่วยให้นักเรียนรู้จักตนเองดีขึ้นและสามารถปรับปรุงตนเองในด้านการเรียน สังคมอารมณ์และสติปัญญา
2.2 ช่วยให้นักเรียนตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างฉลาดและมีเหตุผล
2.3 ช่วยให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ปัญหาเพื่อสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
3. ประโยชน์แก่ครู
3.1 ช่วยครูให้เข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของปัญหารวมทั้งหาวิธีแก้ปัญหานั้น
3.2 ช่วยครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของนักเรียน
3.3 ช่วยครูในการศึกษานักเรียนทำให้รู้จักนักเรียนดีขึ้น
4. ประโยชน์แก่โรงเรียน
4.1 ช่วยโรงเรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของนักเรียน
4.2 ช่วยลดปัญหาต่าง ๆ เช่นปัญหานักเรียนเรียนไม่จบหลักสูตร หรือปัญหานักเรียนเรียนอ่อน หรือหนีเรียน เป็นต้น
ขอบข่ายของการจัดบริการแนะแนว
1. การแนะแนวการศึกษา ซึ่งมีขอบข่ายงานตั้งแต่ การสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียน การฝึกทักษะหรือเทคนิคการเรียนที่มีประสิทธิภาพ การวางแผนการเรียนที่ดี การรู้ช่องทางการศึกษาและการเลือกทางศึกษาต่อ ตลอดทั้งการสร้างนิสัยเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.การแนะแนวศึกษาต่อด้านอาชีพ ซึ่งมีขอบข่ายงานตั้งแต่การสร้างเจตคติที่ดีต่อการทำงานและการประกอบอาชีพ การสร้างความตระหนัก รับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอาชีพ การสำรวจอาชีพ การตัดสินใจและวางแผนด้านอาชีพ การเตรียมตัวเพื่ออาชีพ การเข้าสู่อาชีพและการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ตลอดทั้งการปรับตนในการทำงาน การเปลี่ยนงานและเกษียณจากงาน
3. การแนะแนวส่วนตัวและสังคม ซึ่งมีขอบข่ายงานตั้งแต่การรู้จักชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การรู้จักตนเองและรู้คุณค่าของตน การรู้จักปรับตัวและแก้ปัญหา การพัฒนาตนเอง การฝึกทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม เพื่อให้บุคลิกภาพ สุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี
งานบริการแนะแนว
1.บริการรวบรวมข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล(Individual Inventory Service)
เป็นบุริการที่จำเป็นพื้นฐานในการที่จะให้ความช่วยเหลือนักเรียนได้ถูกต้อง เพราะจะทำให้ได้ทราบปัญหา หรือข้อบกพร่องในตัวนักเรียน เพื่อดำเนินการแก้ไขได้ถูกต้องและนำข้อมูลที่ได้ศึกษามาเป็นองค์ประกอบในการจัดบริการอื่น ๆ ต่อไป งานบริการด้านนี้ได้แก่
- บันทึกประวัตินักเรียนทุกคนไว้ในระเบียนสะสม
- บริการข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ทดสอบความถนัด ความสนใจของนักเรียน
- สำรวจพฤติกรรมที่มีปัญหาของนักเรียน
2.บริการสนเทศ (Information Service)
บริการสนเทศให้ความรู้ ข่าวสารต่าง ๆ ทั้งทางด้านการศึกษา การเลือกอาชีพ และการปรับตัวเข้ากับสังคม บริการสนเทศ จะให้ความรู้ข่าวสารนอกเหนือจากการเรียน ช่วยให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น บริการสนเทศ นอกจากจะให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียนแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจที่จะวางแผนการในชีวิต และวางจุดประสงค์ที่จะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพต่าง ๆ รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นและสนใจในการปฏิบัติงาน นอกจากนั้น บริการสนเทศยังส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ อย่างถูกต้องและเป็นไปตามหลักของธรรมชาติ บริการให้ความรู้แก่นักเรียนในหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ รู้จักตัดสินใจ และวางแผนอนาคตอย่างฉลาด ได้แก่
- การจัดสอนให้ความรู้ต่าง ๆ ในคาบกิจกรรมแนะแนว
- การจัดป้ายนิเทศ
- การจัดทำเอกสารที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียน
- การจัดอภิปราย บรรยาย ให้ความรู้ในด้านการศึกษาอาชีพ และการปรับตัวในสังคม
- การจัดวันอาชีพ
- การจัดสัปดาห์แนะแนวทางศึกษาต่อ
- การจัดฉายภาพยนตร์ วีดีโอ สไลด์ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
- จัดปฐมนิเทศ และปัจฉิมนิเทศ
บริการสนเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. บริการสนเทศทางการศึกษา (Educational Information)
2. บริการสนเทศทางอาชีพ (Occupational Information)
3. บริการสนเทศทางด้านส่วนตัวและสังคม (Personal Information
3.บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service)
เป็นบริการที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของงานแนะแนว โดยเฉพาะการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่ และในสภาวะเศรษฐกิจและสังคมยุคปัจจุบัน งานบริการในด้านนี้ คือ
- ให้คำปรึกษานักเรียนที่มีปัญหาด้านส่วนตัว การเรียน และอาชีพ
- ศึกษาและหาทางช่วยให้นักเรียนแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- เสนอแนะแนวทางปฏิบัติตน เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพ
บริการให้คำปรึกษาจะช่วยผ่อนคลายความเครียดในจิตใจของนักเรียนและผู้ปกครองโดย อาจารย์แนะแนวมีจรรยาบรรณที่จะ "รักษาความลับของนักเรียน" ฉะนั้นการเข้าไปคุยกับครูแนะแนวจึงเป็นเรื่องที่เด็กฉลาดควรทำ ไม่ควรคิดผิด ๆ ว่า"เฉพาะเด็กที่มีปัญหาเท่านั้นที่จะเข้าห้องแนะแนว" อาจารย์แนะแนวพร้อมที่จะเป็นคู่คิด เป็นที่ปรึกษาทั้งการเลือกวิชาเรียนการศึกษาต่อ การหางานทำ หรือปัญหาส่วนตัว งานแนะแนวยินดีช่วยนักเรียนเสมอ จุดมุ่งหมายของการให้คำปรึกษา
- ช่วยให้บุคคลมีความรู้สึกว่าตนเองไม่โดดเดี่ยวเมื่อเกิดปัญหา
- ช่วยทำให้บุคคลสามารถรู้จักและเข้าใจตนเองงได้อย่างถูกต้อง
- ช่วยให้บุคคลรู้จักใช้ความคิด ใช้สติปัญญาที่มีทั้งหมดนำไปใช้ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา
- ช่วยให้บุคคลเกิดความกระจ่างขึ้นในใจ มองเห็นลู่ทางในการแก้ไขปัญหา
- ช่วยให้บุคคลเห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ที่จะได้รับจากบริการแนะแนว
- ช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้
- ช่วยให้บุคคลรู้จักความอดทน เสียสละ ยอมรับต่อสภาวการณ์ที่แท้จริง
- ช่วยให้บุคคลมีการพัฒนาการ และเจริญงอกงามไปถึงขีดสูงสุด
หลักของการให้คำปรึกษา

- การให้คำปรึกษาจะต้องกระทำไปโดยความสมัครใจของผู้มาขอรับคำปรึกษา
- ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความรู้ ผ่านการอบรมมีประสบการณ์และฝึกฝนเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา
- ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาเข้าใจตนเองและรู้จักตนเอง
- ผู้ให้คำปรึกษาต้องสามารถเข้าใจว่าปัญหาทุกอย่างไม่สามารถแยกออกจากปัญหาอื่นๆได้ อาจต้องมีความสัมพันธ์กัน
- การให้คำปรึกษาต้องเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
- การให้คำปรึกษาต้องยึดหลักในการให้บุคคลสามารถปรับตัวได้
วิธีการให้คำปรึกษา
การให้คำปรึกษาแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ
- การให้คำปรึกษาแบบนำทาง
- การให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง
- การให้คำปรึกษาแบบสายกลาง
การให้คำปรึกษาแบบนำทาง จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ผู้ให้คำปรึกษามีส่วยสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อปัญหาของเด็กโดยตรง การให้คำปรึกษาแบบนำทาง เป็นวิธีการที่ผู้ให้คำปรึกษาทำหน้าที่วางแนวทาง ชี้แนะแนวทาง รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาให้จบสิ้นลงด้วยดี
การให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง เป็นวิธีการที่ผู้มาขอรับคำปรึกษาจะเป็นผู้ไปขอคำปรึกษาด้วยความสมัครใจไม่มีบุคคลใดบังคับหรือส่งตัวไปโดยที่เขาไม่สมัครใจ การให้คำปรึกษาแบบนี้จะให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ แต่มีความกระตือรือร้น หรือต้องการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
การให้คำปรึกษาแบบสายกลาง เป็นที่ยอบรับของบุคคลทั่งไป ทั้งนี้เพราะการให้คำปรึกษาโดยวิธีนี้เป็นการยืดหยุ่นกว่า ไม่ควรจะยึดแนวทางในการให้คำปรึกษาแบบนำทางหรือแบบไม่นำทางเป็นหลัก การให้คำปรึกษาแบบสายกลางเน้นว่าการให้คำปรึกษาที่ดีควรจะนำวิธีการทั้งสองอย่างเข้ามาใช้ เพราะการให้คำปรึกษาบางอย่าง ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ช่วยวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไปในทางที่ถูกต้องถ้าไม่ให้ความช่วยเหลือแล้ว การให้คำปรึกษาอาจจะล้มเหลวได้

4.บริการจัดวางตัวบุคคล 
การจัดวางตัวบุคคลเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับบริการต่าง ๆ ข้างต้น เป็นการวางตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงานตามที่คัดเลือก เป็นบริการที่ช่วยให้บุคคลได้เรียนตามวิชาที่ตนเองชอบ ช่วยให้มีโอกาสเรียนและประกอบอาชีพตรงตามความสามารถของตนเอง เป็นบริการที่จัดขึ้นช่วยเหลือนักเรียนทั้งที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนและสำเร็จการศึกษาไปแล้ว
ประโยชน์ของการจัดวางตัวบุคคล มีดังนี้
- ช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนวิชาที่เหมาะสมตามความสามารถ
- ช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามความสามารถของตนเอง
- ช่วยให้นักเรียนใช้เวลาว่างทำงานพิเศษตามทที่ตนถนัด
- ช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนมีโอกาสทำงานพิเศษที่ตนเองชอบนอกเวลาเรียน
- ช่วยให้นักเรียนได้เลือกอาชีพตามความถนัดของตนเอง
- ช่วยให้นักเรียนที่สำเร็จไปแล้วมีโอกาสได้รับผลสำเร็จ
- ช่วยให้นักเรียนได้รับการประคับประคอง ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจ
- ช่วยให้นักเรียนดำเนินแผนการต่างๆ ที่วางแผนไว้
ประเภทของการจัดวางตัวบุคคล
- การจัดวางตัวบุคคลทางด้านการศึกษา
- การจัดวางตัวบุคคลในด้านอาชีพ
การจัดวางตัวบุคคลทางด้านการศึกษา

การบริการจัดวางด้านการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- การจัดวางตัวนักเรียนภายในโรงเรียน
- การจัดวางตัวนักเรียนภายนอกโรงเรียน
การจัดวางตัวนักเรียนภายในโรงเรียน

- ช่วยจัดวางตัวนักเรียนให้เลือกวิชาเรียนตามวามถนัด เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษา 4-5-6 ซึ่งนักเรียนต้องเป็นผู้พิจารณาว่าตน
เองจะสามารถศึกษาเล่าเรียนในวิชาที่ตนเองเลือกประสบความสำเร็จหรือไม่
- ช่วยจัดวางตัวนักเรียนให้เรียนตรงตามหลักสูตร ต้องเลือกวิชาที่เป็นประโยชน์นักเรียนจะเป็นคนเลือกเอง
- ช่วยจัดวางตัวนักเรียนให้เลือกกิจกรรมเสริมลักสูตรที่ดีและมีคุณค่า เป็นการเสริมหลักสูตรทางด้านวิชาการให้มั่นคงยิ่งขึ้น
- ช่วยจัดวางตัวนักเรียนเข้าร่วมโครงการและจัดประสบการณ์ในการทำงาน เป็นการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ
การจัดวางตัวนักเรียนภายนอกโรงเรียน
- เป็นการจัดวางตัวนักเรียนที่ออกไปทำงานนอกกโรงเรียนในระหว่างวันหยุด โดยจัดส่งไปทำกับบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ
- ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้แนวทางในการปฏิบัติงานที่แท้จริงและจะได้เป็นแนวทางในการเลือกอาชีพ
การจัดวางตัวบุคคลทางด้านอาชีพ ควรให้บริการดังต่อไปนี้
- จักข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ
- ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกอาชีพ
- ให้นักเรียนมีโอกาสฝึกฝน และรู้จักการงานทที่ตนเองคิดว่าจะไปประกอบอาชีพในอนาคต

5.บริการติดตามผลประเมิน
บริการติดตามผล เป็นบริการสุดท้ายของบริการแนะแนว เป็นการติดตามดูว่าการจัดบริการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินไปแล้วนั้น ได้ผลมากน้อยเพียงใด นักเรียนที่ออกจากโรงเรียนไปแล้วนั้นทั้งจบการศึกษาและยังไม่จบการศึกษาประสบปัญหาอะไรบ้าง รวมทั้งการติดตามผลดูนักเรียนที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนและจบการศึกษาไปแล้วว่าประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหรือไม่

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาไทย

ภาษาจีน

การงานอาชีพ